การตีความและการอุดช่องว่างของกฎหมาย

การตีความกฎหมาย หมายถึง การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนแน่นอน คือกำกวมหรือมีความหมายได้หลายทาง เพื่อหยั่งทราบว่าถ้อยคำของบทบัญญัติของกฎหมายว่ามีความหมายอย่างไร[22] ซึ่งเหตุที่ต้องมีการตีความกฎหมายก็เพราะว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าที่เกิดขึ้นในภายหน้าได้ทุกกรณี จึงไม่สามารถบัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมทุกกรณี นอกจากนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติอาจมีความผิดพลาดในเรื่องการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับได้ เช่น บัญญัติกฎหมายไว้เคลือบคลุมหรือขัดแย้งกันเอง[23] เช่นนี้ การใช้กฎหมายจึงต้องมีการตีความกฎหมาย
การตีความกฎหมายต้องพิเคราะห์ตัวอักษรให้ได้ความหมายของตัวอักษร และการจะรู้ความหมายของตัวอักษรได้ต้องพิเคราะห์เหตุผลหรือความมุ่งหมายของกฎหมาย การตีความกฎหมายจึงต้องพิจารณาประกอบกันไป 2 ด้าน คือ[24] พิเคราะห์ตัวอักษร และพิเคราะห์ความมุ่งหมายของกฎหมาย (เจตนารมณ์ของกฎหมาย) แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องพิจารณาตัวอักษรก่อน ถ้าไม่ชัดจึงดูความมุ่งหมาย หากแต่ต้องตีความทั้งตัวอักษรและความมุ่งหมายประกอบไปด้วยกัน ทั้งนี้ การตีความกฎหมายจะมีหลักเกณฑ์แตกต่างไปตามลักษณะของกฎหมาย โดยแยกพิจารณาเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การตีความกฎหมายทั่วไป ต้องใช้ทั้งการตีความตามตัวอักษรประกอบกับการตีความตามเจตนารมณ์
1.1 การตีความตามตัวอักษร เป็นการพิจารณาความหมายของกฎหมายจากตัวบทกฎหมายนั้น แยกออกได้เป็น 3 กรณี คือ
- กรณีใช้ภาษาสามัญ เมื่อใดคำในตัวบทกฎหมายใช้คำซึ่งเป็นภาษาสามัญที่ใช้อยู่กันทั่วไป ก็ให้เข้าใจตามความหมายที่เข้าใจกันอยู่ตามธรรมดาทั่วไป
- กรณีใช้ภาษาทางวิชาการหรือภาษาเทคนิค ก็ต้องถือความหมายตามที่เข้าใจกันในวงวิชาการนั้น
- กรณีที่กฎหมายได้ให้บทนิยามความหมายไว้ ในบางกรณีกฎหมายประสงค์ให้คำที่ใช้ในกฎหมายมีความหมายต่างไปจากความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป กฎหมายก็จะมีบทนิยามความหมายของคำนั้น ๆ ไว้
1.2 การตีความตามเจตนารมณ์ เป็นการค้นหาความหมายของถ้อยคำในบทกฎหมายจากเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของกฎหมายนั้น ๆ โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละเรื่องมีไม่เหมือนกัน เช่น เจตนารมณ์ของกฎหมายอาญามุ่งที่จะควบคุมการกระทำผิดและลงโทษผู้กระทำความผิด ในขณะที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มุ่งที่จะให้มีการชดใช้เยียวยาความเสียหาย
2. การตีความกฎหมายพิเศษ ซึ่งในที่นี้ กฎหมายพิเศษ หมายถึง กฎหมายที่มีโทษอาญา ซึ่งโดยหลัก ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา นอกจากนี้ยังรวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่มีโทษทางอาญาด้วย เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร เป็นต้น เหตุที่การตีความกฎหมายอาญามีลักษณะแตกต่างไปจากการตีความกฎหมายทั่วไป ก็เพราะกฎหมายอาญามีวัตถุประสงค์ในการลงโทษบุคคล ซึ่งการลงโทษนั้นกระทบสิทธิของประชาชน จึงต้องใช้กฎหมายอาญาด้วยความระมัดระวัง โดยกฎหมายอาญามีหลักเกณฑ์ในการตีความ ดังต่อไปนี้
- กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด
- กฎหมายอาญาจะตีความให้เป็นการลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้กระทำให้หนักขึ้นไม่ได้
- กฎหมายอาญาในกรณีเป็นที่สงสัยต้องตีความให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหา
ช่องว่างของกฎหมาย หมายถึง กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือกฎหมายจารีตประเพณีที่จะนำไปใช้ปรับแก่ข้อเท็จจริงได้ กล่าวคือ ผู้ใช้กฎหมายหากฎหมายเพื่อมาใช้ปรับแก่กรณีไม่พบ โดยช่องว่างของกฎหมายนั้น เกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ กรณีผู้บัญญัติกฎหมายคิดไปไม่ถึงว่าจะมีช่องว่างในกฎหมาย หรือกรณีผู้บัญญัติกฎหมายคิดถึงช่องว่างแห่งกฎหมายนั้น แต่เห็นว่าสำหรับกรณีที่เป็นช่องว่างแห่งกฎหมายยังไม่สมควรบัญญัติไว้ให้ตายตัว[25]
โดยการอุดช่องว่างของกฎหมายนั้น เมื่อไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ จะมีเครื่องมือที่นำมาใช้ในการอุดช่องว่างของกฎหมาย[26] ตามลำดับ คือ
- จารีตประเพณี ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ ในการอุดช่องว่างของกฎหมายจะใช้จารีตประเพณี โดยจารีตประเพณีจะต้องมีลักษณะ ดังนี้
(1) ต้องใช้บังคับมาเป็นเวลานาน
(2) ต้องเป็นที่ยอมรับและถือตามของมหาชนทั่วไป
(3) ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย
(4) ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน
- บทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้และไม่มีจารีตประเพณีที่จะใช้ปรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะต้องใช้บทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งหมายถึง การให้เหตุผลโดยอ้างความคล้ายคลึงกัน โดยเป็นการเทียบเคียงข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดี โดยพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงนั้นมีความคล้ายคลึงกันหรือไม่ หรือบทบัญญัตินั้นเป็นบทบัญญัติที่ใกล้เคียงกันหรือไม่ ถ้าใกล้เคียงกันถึงขนาดก็เป็นบทกฎหมายที่นำมาอุดช่องว่างได้[27]
- หลักกฎหมายทั่วไป ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้และไม่มีจารีตประเพณีที่จะใช้ปรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่สามารถเทียบเคียงหาบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งได้ การอุดช่องว่างของกฎหมายจะต้องอาศัยหลักกฎหมายทั่วไปซึ่งเป็นหลักที่กว้างมาก โดยผู้ที่มีหน้าที่ในการค้นหาหลักกฎหมายทั่วไปก็คือผู้พิพากษาในฐานะศาลซึ่งจะค้นหาจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้บังคับในระบบกฎหมาย
กฎหมายนั้นมีส่วนสำคัญในการรักษาความสงบเรียบร้อยและสร้างความเป็นธรรมให้กับประเทศชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นการที่ประเทศชาติใดจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็นไปในแนวทางใด หากมีบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหลักการให้ทุกคนใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตาม ก็ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น