ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย

เมื่อกฎหมายได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติเสร็จสิ้นแล้ว การจะนำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับนั้น มีหลักพิจารณาอยู่ 3 ประการ คือ
1. การใช้กฎหมายเกี่ยวกับเวลา
1.1 วันเริ่มใช้บังคับแห่งกฎหมาย[16] ในทางปฏิบัติกำหนดไว้ดังนี้
- กรณีปกติ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และพระราชกฤษฎีกา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยปกติจะเริ่มใช้บังคับในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสทราบข้อความของกฎหมายนั้นล่วงหน้า 1 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป
- กรณีรีบด่วน พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และพระราชกฤษฎีกา อาจจะกำหนดให้ใช้บังคับในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปก็ได้ เพราะถ้าช้าไปอาจจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากแก่ประเทศ
- พระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่น อาจกำหนดวันใช้บังคับลงไว้ในพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นนั้นในอนาคต โดยกำหนดวันที่แน่นอนหรือกำหนดให้ใช้เมื่อระยะเวลาหนึ่งได้ล่วงพ้นไป เพื่อให้เจ้าพนักงานและประชาชนเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายนั้นได้ หรือเพื่อให้ทางราชการมีโอกาสเตรียมพร้อม เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นนั้น
- พระราชบัญญัติอาจกำหนดให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินั้นในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่จะใช้พระราชบัญญัตินั้นจริง ๆ ในท้องที่ใดเวลาใดก็ให้ประกาศในพระราชกฤษฎีกาอีกชั้นหนึ่ง ในกรณีนี้ พระราชบัญญัติได้ออกมาใช้เป็นกฎหมายแล้ว แต่ยังไม่นำไปใช้จริง ๆ จนกว่าจะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุสถานที่และเวลาที่ใช้บังคับให้เหมาะสมต่อไป ที่ทำเช่นว่านี้ก็เพื่อจะให้รัฐบาลใช้ดุลยพินิจพิจารณาเพื่อให้นำกฎหมายมาใช้ให้เหมาะสมแก่สภาพของท้องที่และให้เวลาเจ้าพนักงานของรัฐบาลเตรียมการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย
1.2 การมีผลย้อนหลังของกฎหมาย[17] โดยทั่วไปแล้วกฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลัง ส่วนการจะให้กฎหมายมีผลย้อนหลังได้นั้นเป็นเรื่องข้อยกเว้น ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 2 ประการ คือ ประการแรก ต้องระบุให้ชัดเจนในกฎหมายนั้นเองว่า ให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง และประการที่สอง การบัญญัติกฎหมายให้ย้อนหลังนั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้วย เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ว่ากฎหมายฉบับใด ๆ ก็ไม่อาจขัดหรือแย้งได้ ถ้ากฎหมายฉบับใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนั้น ๆ ไม่สามารถจะใช้บังคับได้
1.3 การยกเลิกกฎหมาย เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว ย่อมมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการยกเลิกกฎหมายนั้น ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้ [18]
- การยกเลิกกฎหมายโดยตรง มีได้ใน 3 กรณี คือ
กรณีที่ 1 มีการกำหนดเวลายกเลิกกฎหมายไว้ในกฎหมายฉบับนั้นเอง
กรณีที่ 2 มีกฎหมายฉบับใหม่ที่มีลักษณะเช่นเดียวกันระบุยกเลิกไว้โดยตรง ซึ่งอาจเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน หรือกฎหมายอื่น ๆ หรือกฎหมายฉบับต่อ ๆ มาได้บัญญัติยกเลิกไว้ ซึ่งในการยกเลิกนี้อาจเป็นการยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับ หรือเป็นการยกเลิกกฎหมายนั้นเฉพาะบางบทบางมาตราก็ได้ โดยการจะยกเลิกอย่างไรต้องระบุไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายฉบับนั้น
กรณีที่ 3 เมื่อได้ประกาศใช้พระราชกำหนด แต่ต่อมารัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้น ในกรณีเช่นนี้ก็มีผลเป็นการยกเลิกพระราชกำหนดไปในตัว ทั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อกิจการที่ได้กระทำไปในระหว่างที่บังคับใช้พระราชกำหนดนั้น
- การยกเลิกกฎหมายโดยปริยาย หมายถึง กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติโดยชัดแจ้งให้ยกเลิก แต่เป็นที่เห็นได้จากกฎหมายฉบับใหม่ ว่าจะต้องยกเลิกกฎหมายเก่าไปในตัวด้วย ซึ่งมีได้ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ
กรณีที่ 1 กฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีบทบัญญัติในกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นอย่างเดียวกัน กรณีนี้ต้องถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าในกรณีเช่นเดียวกันนั้น เพราะต้องถือว่ากฎหมายใหม่ดีกว่ากฎหมายเก่า และกฎหมายใหม่ไม่ประสงค์จะให้ใช้กฎหมายเก่า แม้ว่าจะมีข้อความเดียวกับกฎหมายใหม่ก็ตาม
กรณีที่ 2 กฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีข้อความขัดแย้งกันหรือไม่ตรงกัน คือ กฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีการบัญญัติข้อความไว้ไม่เหมือนกัน จึงถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าโดยปริยาย
กรณีที่ 3 กรณีที่กฎหมายเก่ามีข้อความขัดกับกฎหมายใหม่ คือ ข้อความที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเก่ากับกฎหมายใหม่นั้นบัญญัติไว้ตรงข้ามกัน ทั้ง ๆที่เป็นเรื่องเดียวกัน จึงถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าโดยปริยาย
- การยกเลิกกฎหมายโดยศาลรัฐธรรมนูญ[19] เนื่องด้วยกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญจะมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดไม่ได้ เมื่อสงสัยว่ากฎหมายฉบับใดน่าจะมีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ต้องเสนอเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากวินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่ากับว่ากฎหมายกฎหมายนั้นถูกยกเลิกไปด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
2. การใช้กฎหมายเกี่ยวกับสถานที่ กฎหมายไทยจะใช้บังคับแก่เหตุการณ์หรือการกระทำที่เกิดขึ้น ภายในราชอาณาจักรไทยเท่านั้นตาม “หลักดินแดน” โดยคำว่า “ราชอาณาจักร” หมายถึง[20]
(1) พื้นดินในประเทศไทย รวมถึงแม่น้ำแม่น้ำลำคลองในประเทศไทยด้วย
(2) ทะเลอันเป็นอ่าวไทยตามพระราชบัญญัติกำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน พ.ศ. 2502
(3) ทะเลอันห่างจากฝั่งที่เป็นดินแดนของประเทศไทยไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล
(4) พื้นอากาศเหนือ (1) (2) และ (3)
(5) เรือไทยและอากาศยานไทย สำหรับในคดีอาญาเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า “การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร”
อย่างไรก็ดี มีกฎหมายบางฉบับที่ไม่นำไปใช้ทั่วประเทศ แต่ใช้เฉพาะท้องที่ใดท้องที่หนึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยกฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล พ.ศ. 2498
ตามหลักดินแดนนี้ มิใช่ว่ากฎหมายของไทยจะใช้ได้เฉพาะในราชอาณาจักรดังที่ได้กล่าวมาเสมอไป แต่มีข้อยกเว้นบางประการในเรื่องหลักดินแดน กล่าวคือ อาจมีการกำหนดให้ใช้พระราชบัญญัติบางฉบับบังคับแก่การกระทำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรได้ แต่กรณีต้องระบุไว้โดยเจาะจง ซึ่งมีกฎหมายที่สำคัญอยู่ 2 ฉบับ ที่ได้ยกเว้นหลักการดังกล่าว คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 และกฎหมายอาญา
3. การใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุคคล กฎหมายของรัฐมีผลใช้บังคับแก่บุคคลทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าคน ๆ นั้น จะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว นอกจากนี้ บางกรณีรัฐยังมีอำนาจเหนือพลเมืองที่มีสัญชาติของรัฐที่อยู่นอกดินแดน และแม้แต่คนต่างด้าวที่อยู่นอกดินแดน ถ้าการกระทำของบุคคลเหล่านั้นกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นอยู่ 2 ประการ ที่กฎหมายของไทยจะไม่ใช้บังคับกับบุคคลเหล่านี้ อันได้แก่
(1) ข้อยกเว้นตามกฎหมายไทย ซึ่งบัญญัติยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับแก่บุคคลบางคนหรือบางจำพวก
(2) ข้อยกเว้นตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง[21]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น