ศักดิ์ของกฎหมายเป็นการพิจารณาลำดับชั้นแห่งค่าบังคับของกฎหมาย[12]ทั้งนี้
เพราะกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ใช้บังคับอยู่มีหลายประเภท
และมีชื่อเรียกแตกต่างกัน
การจัดศักดิ์ของกฎหมายจึงมีความสำคัญต่อกระบวนวิธีการต่าง ๆ ทางกฎหมาย
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ การตีความ และการยกเลิกกฎหมาย
ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมายนั้น
จะพิจารณาจากองค์กรที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย
ศักดิ์ของกฎหมายเป็นดังนี้[13]
1. รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
ตลอดจนสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากนี้
รัฐธรรมนูญยังเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทุกฉบับ ดังนั้น
กฎหมายฉบับอื่นที่มีลำดับชั้นต่ำกว่าจะมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนั้นจะถือว่าไม่มีผลบังคับ
2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
เป็นกฎหมายที่อธิบายขยายความเพื่อประกอบเนื้อความในรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์
ละเอียดชัดเจน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
โดยถือว่ากฎหมายประเภทนี้มีลักษณะและหลักเกณฑ์พิเศษแตกต่างจากกฎหมายธรรมดา
ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการกำหนดกระบวนการในการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แตกต่างไปจากพระราชบัญญัติทั่วไป โดยกำหนดในลักษณะที่ให้ความสำคัญกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมากกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป
3. พระราชบัญญัติ/พระราชกำหนด/ประมวลกฎหมาย
พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายลำดับชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ
เพราะพระราชบัญญัติออกมาเป็นกฎหมายโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญโดยตรง
ซึ่งองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตราพระราชบัญญัติ คือ รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐสภาจะตราพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
ประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายในลำดับเดียวกับพระราชบัญญัติ
องค์กรที่ทำหน้าที่ในการตราประมวลกฎหมาย คือ รัฐสภา
ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ
มีลักษณะเรียบเรียงเรื่องราวไว้อย่างเป็นหมวดหมู่เดียวกันและมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน
ปัจจุบันมีประมวลกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลรัษฎากร ประมวลกฎหมายที่ดิน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา[14]
พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการบัญญัติให้กับฝ่ายบริหาร คือคณะรัฐมนตรี
โดยคณะรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการออกพระราชกำหนดเพื่อใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติได้ในกรณีพิเศษตามที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจไว้เป็นการชั่วคราว
เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องการการดำเนินการที่จำเป็นและเร่งด่วน
เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนร่วม โดยหลังจากมีการประกาศใช้
พระราชกำหนดนั้นแล้ว
จะต้องนำพระราชกำหนดมาให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบ
ถ้ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดก็จะกลายเป็นกฎหมายถาวร
แต่หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดก็จะสิ้นผลไป โดยการดำเนินการใด ๆ
ก่อนที่พระราชกำหนดจะสิ้นผลไป ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย
แม้ภายหลังจะปรากฏว่าพระราชกำหนดสิ้นผลไป
4. พระราชกฤษฎีกา
เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของพระราชบัญญัติ
พระราชกำหนด โดยพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ได้กำหนดหลักการใหญ่ ๆ ไว้
ซึ่งเป็นสาระสำคัญโดยรวมและให้ออกพระราชกฤษฎีกาโดยอาศัยอำนาจพระราชบัญญัติ
พระราชกำหนด เพื่ออธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ตามหลักการในพระราชบัญญัติ
พระราชกำหนดนั้น
เมื่อพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บท คือ
รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดแล้ว
พระราชกฤษฎีกาจะมีเนื้อหาที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ เช่น
พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดไม่ได้
รวมทั้งจะบัญญัติเนื้อหาที่เกินขอบเขตของกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจไว้ไม่ได้ด้วย
5. กฎกระทรวง/ประกาศกระทรวง
กฎกระทรวง
เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา
ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพระราชกฤษฎีกา แต่มีศักดิ์ของกฎหมายที่ต่ำกว่า
การดำเนินการออกกฎกระทรวงนั้น
รัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะบัญญัติกฎกระทรวงออกมาโดยมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดฉบับใดฉบับหนึ่งให้อำนาจไว้
ประกาศกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเช่นเดียวกันกับกฎกระทรวง
แต่มีความแตกต่างกันที่ประกาศกระทรวงไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเหมือนกับกฎกระทรวง
แต่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้[15]
6. ข้อบัญญัติท้องถิ่น
เป็นข้อบัญญัติที่กฎหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจบัญญัติขึ้นใช้บังคับ
คือ มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติได้ด้วยตนเอง ซึ่งอำนาจในการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ในการตรากฎหมายเพื่อใช้บังคับในท้องถิ่นในรูปแบบของข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้น
จะเป็นอำนาจที่ได้รับมาจากพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
ๆ โดยทั่วไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการตราข้อบัญญัติต่าง ๆ ได้
ดังนี้ คือ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และ ข้อบัญญัติเมืองพัทยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น